
โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ได้ดำเนินการมาแล้ว 4 รุ่น โดยรุ่นที่ 1 เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2547 มีผู้รับทุนจำนวน 921 คน สำหรับรุ่นที่ 2 ดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2549 มีผู้รับทุน จำนวน 915 คน และรุ่นที่ 3 จำนวน 689 คน รุ่นที่ 4 (รอบที่1-3) จำนวน 568 รวมจำนวนผู้รับทุน 3,093 คน หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ร่วมดำเนินโครงการภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานคณะกรรมการ ได้แก่หน่วยงาน
- กระทรวงศึกษาธิการ
- สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ฝ่ายเลขานุการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน)
- สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ดูแลนักเรียนทุนที่ศึกษาในประเทศ)
- สำนักงาน ก.พ. (ดูแลนักเรียนทุนในต่างปรระเทศ)
- กระทรวงการต่างประเทศ (ดูแลนักเรียนทุนในต่างปรระเทศในประเทศที่ไม่มีสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนทุนของสำนักงาน ก.พ.)

กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงาน ก.พ. ได้วางแนวทางรองรับนักเรียนในโครงการฯ ที่สำเร็จการศึกษา โดยสำนักงาน ก.พ. ได้พิจารณาอนุมัติให้ผู้ได้รับทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เป็น “กรณีเหตุพิเศษอื่น” ซึ่งหน่วยงานภาครัฐสามารถรับนักเรียนทุนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.พ. บรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนโดยไม่ต้องสอบภาค ก. (หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1004/ ว2 ลงวันที่ 31 มกราคม 2561 ) ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น ทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชน เพื่อพิจารณาใช้ประโยชน์จากนักเรียนทุนโดยรับเข้าทำงานหรือให้ทุนศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
กระทรวงศึกษาธิการมีการติดตามนักเรียนทุนโดยได้เดินทางไปเยี่ยมนักเรียนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เข้าพบกับผู้ดูแลนักเรียนและผู้บริหาร สถานศึกษา/อาจารย์ผู้สอน เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการศึกษาของนักเรียน รับฟังปัญหา/อุปสรรคต่าง ๆ นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับโครงการฯ และนักเรียนทุนทุกปี เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคมีความเข้าใจในการดำเนินโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ทำให้มีการประสานงานที่ดี รวมทั้งเพื่อให้นักเรียนทุนได้มีโอกาสพบปะซึ่งกันและกัน และสร้างเครือข่ายในการทำประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศ
ประเทศและสาขาวิชาที่จัดสรรให้นักเรียนทุนไปศึกษา
โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ได้พิจารณาให้นักเรียนทุนไปศึกษาในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในร่นที่ 1-2 ซึ่งเป็นประเทศที่มีความชำนาญในสาขาวิชาต่างๆ ที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในภาพรวม เดิม 35 ประเทศ สำหรับนักเรียนทุน รุ่นที่ 3 ได้มีการจัดสรรกลุ่มประเทศใหม่ ทั้งที่ใช้ภาษาอังกฤษและไม่ใช้ภาษาอังกฤษ โดยจะพิจารณาประเทศที่มีระบบการศึกษาไม่ซับซ้อนมีมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับโลก และมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ปัจจุบันประเทศให้ไปศึกษาจำนวน 45 ประเทศ 91 สาขา 
ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ
1 นักเรียนที่เรียนดีจากทุกเขตพื้นที่ในทุกภูมิภาคได้มีโอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
2. เป็นการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาวเนื่องจาก
นักเรียนทุนที่สำเร็จการศึกษาแล้วสามารถใช้ความรู้ความสามารถประกอบอาชีพที่มีค่าตอบแทนสูงขึ้นช่วยยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัว และบางคนได้กลับไปทำงานในท้องถิ่นของตน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม
|